7 ประเภทพลาสติก ใช้แล้วควรแยกก่อนทิ้ง เพราะเอาไปรีไซเคิลต่อได้

Last updated: 4 พ.ย. 2563  |  2827 จำนวนผู้เข้าชม  | 

7 ประเภทพลาสติก ใช้แล้วควรแยกก่อนทิ้ง เพราะเอาไปรีไซเคิลต่อได้

เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ว่า ขยะพลาสติกประเภทไหนบ้างที่สามารถนำไปรีไซเคิลและเข้าสู่กระบวนการผลิตกลับมาเป็นข้าวของเครื่องใช้ใหม่ได้ ซึ่งขยะพลาสติกรีไซเคิลได้ถูกแบ่งเป็น 7 ประเภทด้วยกัน ดังนี้ 

     

  1. โพลีเอทิลีน เทอร์ฟะธาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE)

    คุณสมบัติ : พลาสติกโพลีเมอร์ใส เนื้อเหนียว มีความทนทานต่อแรงกระแทก และมีคุณสมบัติในการป้องกันการแพร่ผ่านของก๊าซได้ดี 

    ประโยชน์ : นำมาใช้ในการผลิตขวดเครื่องดื่มที่ไม่ได้บรรจุแอลกอฮอล์ เช่น ขวดน้ำดื่มและขวดน้ำมันพืช

    สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 1 

 

  1. โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-density Polyethylene : HDPE) 

    คุณสมบัติ : พลาสติกชนิดนี้มีความหนาแน่นสูง ทำให้แข็งแรง แต่โปร่งแสงน้อยกว่าโพลีเอทิลีน ความหนาแน่นต่ำ ทนกรดและด่าง ทั้งยังป้องกันการแพร่ผ่านของความชื้นได้ดี 

    ประโยชน์ : นำมาใช้ในการผลิตขวดนม ขวดเครื่องสำอาง ถุงพลาสติก ถังขยะ ถังบรรจุสารเคมี เช่น ถังน้ำมันรถ

    สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 2
  2.  โพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC) 

    คุณสมบัติ : เป็นพลาสติกใสที่มีความแข็งแรงมาก ไอน้ำและอากาศซึมผ่านได้พอสมควร แต่ป้องกันไขมันได้ดี 

    ประโยชน์ : นำมาใช้ในการผลิตท่อน้ำประปา หนังเทียม ฉนวนหุ้มสายไฟ ขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุปกรณ์การแพทย์

    สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 3
  3. โพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density Polyethylene : LDPE) 

    คุณสมบัติ : เป็นพลาสติกโปร่งแสง ที่มีปริมาตรสูง แต่ความหนาแน่นต่ำ 

    ประโยชน์ : นำไปใช้ในการผลิตถุงบรรจุอาหารแช่แข็ง แผ่นฟิล์ม ถุงใส่ของ และสายหุ้มทองแดง

    สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 4
  4. พลีโพรพิลีน (Polypropylene : PP) 

    คุณสมบัติ : เป็นพลาสติกที่มีน้ำหนักเบาที่สุด แต่มีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก และความร้อนสูง 

    ประโยชน์ : นำไปใช้ในการผลิตฉนวนไฟฟ้า บานพับ ฝาขวด ภาชนะบรรจุอาหาร ถุงร้อน และหลอดดูด

    สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 5
  5. โพลีสไตรีน (Polystyrene : PS) 

    คุณสมบัติ : เป็นพลาสติกที่มีความโปร่งใส เปราะบาง แต่ทนต่อกรดและด่าง ผลิตเป็นรูปต่าง ๆ ได้ง่าย ไอน้ำและอากาศซึมผ่านได้พอสมควร 

    ประโยชน์ : นำมาผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาชนะ เช่น ถ้วย จาน และกล่องโฟม 

    สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 6
  6. พลาสติกอื่น ๆ (Other)

    คุณสมบัติ : พลาสติกชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ 6 ชนิดแรก เช่น โพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate : PC) เป็นพลาสติกโปร่งใส มีความแข็งแรง ทนต่อความร้อน กรด และแรงกระแทกได้ดี 

    ประโยชน์ : นำมาใช้ในการผลิตปากกา ขวดนมเด็ก หมวกนิรภัย ไฟจราจร ป้ายโฆษณา 

    สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 7

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.เพ็ญศิริ ประชากิตติกุล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.สุธาทิพย์ สินยัง สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร​.ธนิตา​ อารี​รบ สาขาวิชา​เทคโนโลยี​และ​การจัดการสิ่ง​แวดล้อม คณะเทคโนโลยี​และ​สิ่ง​แวดล้อม มหาวิทยาลัย​สงขลา​นครินทร์​ วิทยาเขต​ภูเก็ต
กรมควบคุมมลพิษ 
กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้